การใช้กระดาน



ทักษะการใช้กระดานดำ

กระดาน  เป็นอุปกรณ์ที่มีคู่มากับห้องเรียนจนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของห้องเรียน  แต่เดิมทาด้วยสีดำ  จึงเรียกว่า “กระดานดำ”  ต่อมามีการวิจัยว่าสีเขียวเหมาะสมกว่า  จึงใช้สีเขียวแทนแต่ก็ยังเรียกติดปากว่า “กระดานดำ”  และในปัจจุบันบางแห่งก็หันมาใช้ “กระดานขาว” และมีปากกาเคมีสำหรับเขียนโดยเฉพาะเวลาลบจะไม่มีฝุ่นเหมือนชอล์ก  แต่ราคาแพงกว่า  ดังนั้นจะเรียกเป็นกลางๆ ว่า “กระดาน”
กระดานเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ได้กับทุกชั้นเรียนและใช้ได้ทุกขั้นตอนของการสอน  เพียงแต่ครูรู้จักใช้ให้เหมาะสม  กระดานมีประโยชน์อย่างกว้างขวางไม่เพียงแต่ครูจะใช้เขียนเท่านั้น  ยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ  บนกระดานได้หลายอย่างและใช้เป็นที่รวมความสนใจของนักเรียนได้เป็นอย่างดี

วัตถุประสงค์ของการใช้กระดานดำ
                การใช้กระดานดำมีวัตถุประสงค์โดยทั่วไปก็คือ เป็นสื่อที่เสริมให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้น  นอกจากนี้มีวัตถุประสงค์อื่นๆ (ณรงค์  กาญจนะ, 2553, หน้า 60) ได้แก่
1.             ใช้เพื่อประกอบการอธิบาย  สรุป  และทบทวนบทเรียน
2.             ใช้เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความรู้  ความคิดเห็น  และศักยภาพด้านอื่นๆ เช่น
การวาดรูปกระดาน
3.             ใช้เพื่อเสริมการใช้สื่ออุปกรณ์อื่นๆ เช่น เครื่องแอลซีดีโปรเจคเตอร์  และเครื่องฉายภาพข้าม              
ศีรษะ  เป็นต้น
4.             ใช้เพื่อประกอบการจัดกิจกรรมต่างๆในชั้นเรียน  เช่น  เล่นเกม  ติดภาพ  เป็นต้น


ประโยชน์ของกระดานดำ
                ประโยชน์ของกระดานดำ เสริมศรี  ลักษณศิริ  (2540 , หน้า 129) กล่าวไว้ 3 ประการ  ดังนี้
1.             ใช้บันทึกข้อความสำคัญในการเรียนการสอนได้ทุกขั้นตอน
2.             ใช้บันทึกข้อเสนอแนะ  แนวคิด  ทั้งครูและนักเรียน
3.             ใช้ในการแข่งขันหรือเล่นเกม  เช่น  แข่งขันการเขียน  สะกดคำ  เป็นต้น

คุณสมบัติเด่นของกระดานดำ
                กระดานดำมีคุณลักษณะเด่นหลายประการดังที่  อาภรณ์  ใจเที่ยง (2546, หน้า 192) กล่าวถึงคุณสมบัติเด่นของกระดานดำไว้  ดังนี้
1.             สามารถใช้ได้ทุกเวลาและทุกโอกาส
2.             ไม่ชำรุดเสียหายได้ง่าย
3.             นักเรียนสามารถมองเห็นได้ง่ายทั้งชั้น
4.             เขียนและลบได้ง่าย
5.             นำเสนอข้อคิดใหม่ได้ทันที
6.             ใช้ได้ทั้งครูและนักเรียน

ทักษะการใช้กระดานดำประกอบการสอน
                ทักษะการใช้กระดานดำประกอบการสอน   ลัดดาวัลย์  พิชญพจน์ (2537, หน้า 104) ดังนี้
1.             ใช้เขียนเนื้อหาสาระสำคัญที่ต้องการเน้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญและจดจำได้ดี  เช่น 
ตัวอย่าง  ข้อสรุป ฯลฯ
2.             ใช้วาดภาพลายเส้นอย่างง่ายๆ
3.             ใช้ติดภาพ  แผนภูมิ  แผนที่  แถบประโยค  แผ่นเนื้อเพลง  เป็นต้น
4.             ใช้ร่างแบบเจาะเป็นวิธีช่วยให้การวาดภาพรวดเร็วและเหมือนจริงมากที่สุด  โดยใช้แบบที่เจาะรู
ไว้  แล้วใช้แปรงลบกระดานตบๆ ตามรู  ก็จะได้ภาพที่ร่างที่เหมือนจริงและรวดเร็ว
5.             ให้นักเรียนทำกิจกรรมต่างๆ บนกระดาน  เช่น  ให้นักเรียนออกมาเขียนคำตอบ  วาดภาพ 
แข่งขันเขียนบนกระดานดำ  เล่นเกมต่างๆ  ฯลฯ

หลักทั่วๆไปในการเขียนกระดานดำ
                กระดานดำเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ได้ทุกขั้นทุกตอนของการสอน  ตั้งแต่การนำเข้าสู่บทเรียน  การสอนและการสรุปบทเรียน  และมิใช่เพียงแต่ใช้เขียนหนังสือเท่านั้น  ครูยังมีวิธีอื่นๆ ที่จะช่วยให้การเขียนกระดานดำน่าสนใจยิ่งขึ้น   ดังนี้
1.             เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม  เช่น  แปรง  ชอล์ก
2.             ลบกระดานให้สะอาด  เพราะจะช่วยให้การเขียนกระดานชัดเจน  น่าอ่าน  การลบควรลบจากบน            
ลงล่าง
3.             เขียนเฉพาะข้อความที่สำคัญ  เช่น  หัวข้อ  อย่าเขียนเนื้อหาทั้งหมดให้นักเรียนลอกลงสมุด
4.             เขียนอย่างมีระเบียบ  ควรแบ่งกระดานเป็นช่วงๆ 2 – 3 ช่วง  อย่าเขียนยาวตลอดทั้งแผ่นและอย่า
เขียนแน่นเต็มกระดาน
5.             ข้อความที่เขียนแล้ว  ควรทิ้งไว้ให้นักเรียนได้เห็นสักระยะพอที่จะจดจำได้  แล้วลบออก  เมื่อหมด
ความจำเป็น  เมื่อสอนเรื่องอื่นต่อไป
6.             เขียนให้ถูกต้องตามอักขรวิธีของการเขียน
7.             ขนาดของตัวอักษรโตพอเหมาะที่นักเรียนจะเห็นชัดเจนทุกคน
8.             เขียนให้อยู่ในแนวระดับเดียวกัน  ไม่เพียงขึ้นหรือลงและขนาดเท่ากันตลอด
9.             ขณะเขียนควรจับชอล์กทำมุมกับกระดาน  ประมาณ 45 องศา  อย่าเขียนให้มีเสียงดังและควรหมุน
ปลายชอล์ก  เพื่อให้ขนาดของเส้นคมเท่าๆกัน
10.      .ในกรณีที่ต้องการเน้นข้อความ  อาจใช้วิธีเขียนตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่กว่า  ขีดเส้นใต้  วงกลม
ล้อมรอบหรือใช้ชอล์กสี
11.      ถ้าต้องการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือบางอย่างช่วยในการเขียน  เช่น  การเขียนรูปทรงเรขาคณิต  ควร
เตรียมเครื่องมือให้พร้อมสามารถหยิบใช้สะดวก
12.      ในขณะอธิบาย  ครูควรหันหน้าไปพูดกับนักเรียนและไม่ยืนบังข้อความ  ควรยืนชิดไปด้านใดด้าน
หนึ่งและใช้ไม้ชี้
13.      การเขียนกระดานควรเขียนจากด้านซ้ายไปขวา  บนลงล่าง
14.      ให้นักเรียนมีส่วนใช้กระดานบ้าง  เพื่อให้นักเรียนมีการแสดงออกและเปลี่ยนอิริยาบถ
15.      การติดอุปกรณ์บางอย่าง  เช่น  ภพ  แผนภูมิ  ฯลฯ  ควรเตรียมติดกระดาษกาวมาให้พร้อมสามารถ
ติดได้ทันที  ไม่ควรใช้กระดาษกาว 2 หน้า  เพราะติดแน่นลอกออกไม่หมดทำให้กระดานไม่สะอาด  ถ้ามีขนาดใหญ่ควรเตรียมที่แขวนไว้ให้พร้อม
16.      หากใช้ชอล์กสี  ควรเลือกสีที่นักเรียนสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
17.      พยายามใช้เวลาให้น้อยที่สุดในการเขียนแต่ละข้อความ



เอกสารอ้างอิง

ณรงค์  กาญจนะ. (2553). เทคนิคและทักษะการสอนเบื้องต้น  เล่ม 1. กรุงเทพฯ : บริษัท จรัลสนิทวงศ์               
  การพิมพ์  จำกัด.
ลัดดาวัลย์  พิชญพจน์. (2537). เอกสารประกอบการสอนทักษะและเทคนิคการสอน. ลพบุรี :
  ภาควิชาหลักสูตรและการสอน  คณะครุศาสตร์  สถาบันราชภัฏเทพสตรี.
เสริมศรี  ลักษณศิริ. (2540). หลักการสอน. กรุงเทพฯ : ภาควิชาหลักสูตรและการสอน  คณะครุศาสตร์ 
 สถาบันราชภัฏพระนคร.
อาภรณ์  ใจเที่ยง. (2546). หลักการสอน (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.